สำหรับผู้บริโภคในสังคมไร้เงินสดอย่างเรา ๆ คงรู้กันนะอยู่แล้วนะครับว่าทุกวันนี้ การชำระเงินออนไลน์นั้นมีให้เลือกกันอยู่หลากหลายรูปแบบ และแน่นอนว่า คำว่า “E-Payment” คงเป็นคำที่เคยได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ 

วันนี้ Carry Fulfillment จึงอยากพาทุกคนไปทำความรู้จักกับแนวทางการชำระเงินที่กำลังเปลี่ยนแปลงโลกของเราอย่าง E-Payment ให้มากขึ้น เพื่อให้ใครหลาย ๆ คนที่กำลังตัดสินใจมาใช้ระบบ E-Payment แต่อาจยังมีข้อกังวลใจถึงความปลอดภัยในการใช้งาน มั่นใจในการลือกใช้มากขึ้นครับ 


e-payment

E-Payment คืออะไร?

E-Payment คือระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นวิธีการทำธุรกรรมทางการเงินที่สามารถทำได้ผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างคอมพิวเตอร์, สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต โดยไม่ต้องใช้เงินสด แต่ต้องมีระบบอินเทอร์เน็ตเป็นตัวช่วยสำคัญในการชำระเงิน

ซึ่งระบบ E-Payment นี้จะอยู่ภายใต้การทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้ใช้งานมั่นใจในความปลอดภัยที่ได้มาตรฐาน ป้องกันการโจรกรรมข้อมูลหรือการผิดพลาดในการชำระเงิน 

ประเภทของระบบ E-Payment

รูปแบบของ E-Payment ที่อยู่ภายใต้การทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย มีอยู่ทั้งหมด 8 ประเภท ดังนี้ครับ

𝟭. ระบบการเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money)

เป็นระบบการชำระเงินออนไลน์โดยให้ผู้ใช้งานสร้างบัญชี e-Money และทำการเติมเงินเข้าไปยังบัญชีผ่านแอปธนาคาร บัตรเครดิต เพื่อทำการโอนจ่ายชำระค่าสินค้า และบริการต่าง ๆ 

𝟮. บริการเครือข่ายบัตรเครดิต

เป็นบริการการชำระเงิน โดยการส่งข้อมูลการเงินของผู้ใช้ไปยังผู้ให้บริการบัตรเครดิตโดยตรง

𝟯. บริการเครือข่าย EDC Network

เป็นบริการการชำระเงินผ่านจุดเชื่อมโยงด้านเครือข่ายและอุปกรณ์ที่เรียกว่าเครื่อง EDC ซึ่งตัวเครื่องจะทำการเชื่อมต่อข้อมูลทางการเงินของร้านค้าหรือธุรกิจเอาไว้ เพื่อให้ลูกค้าสามารถชำระเงินได้อย่างสะดวก 

4. บริการหักบัญชี (Clearing)

เป็นบริการการชำระเงินที่สามารถให้ธนาคารหักเงินในบัญชีของผู้ใช้ตามที่ได้มีการผูกบัญชีหรือทำข้อตกลงไว้กับธนาคาร ทำให้การหักบัญชีระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้รวดเร็ว แม่นยำ และสะดวกยิ่งขึ้น 

5. บริการชำระดุล (Settlement)

เป็นบริการช่วยชำระเงินแบบล่วงหน้า โดยจะเป็นการหักเงินในบัญชีของผู้ใช้เพื่อนำไปชำระแก่เจ้าหนี้โดยอัตโนมัติ

6. บริการชำระเงินแทน

เป็นบริการการชำระเงินแทนเจ้าหนี้ทางอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถทำได้อย่างรวดเร็วแถมยังมีประสิทธิภาพสูง 

7. บริการสวิตชิ่งในการชำระเงิน (Switching)

เป็นบริการที่ทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมต่อเพื่อทำการรับและส่งข้อมูลการชำระเงินไปยังผู้ให้บริการ ช่วยให้การชำระเงินสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

𝟴. บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอุปกรณ์

เป็นการชำระเงินออนไลน์ผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่าง สมาร์ทโฟน หรือ คอมพิวเตอร์ โดยมีระบบอินเทอร์เน็ตเป็นตัวเชื่อมต่อ แต่จะไม่มีการเก็บเงินเอาไว้

คำศัพท์เกี่ยวกับ E-Payment ที่ผู้ใช้ควรรู้

  • OTP (One Time Password): รหัสสำหรับการใช้เพียงแค่ครั้งเดียว โดยปกติในการทำธุรกรรมมักจะมีการขอเลข OTP เมื่อเกิดการจ่ายเงินออนไลน์ โดยรหัสจะเข้ามาทางเบอร์โทรศัพท์ที่เชื่อมกับบัตรนั้น ๆ 
  • Internet Banking: เป็นช่องทางการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์จากธนาคารที่ให้บริการทำได้ทั้งบนคอมพิวเตอร์หรือบนแอพพลิเคชั่น
  • Mobile Banking: คล้ายคลึงกับ Internet Banking แต่เป็รออีกหนึ่งช่องทางการทำธุรกรรมต่างๆ ที่ทำผ่านแอพพลิเคชั่นของธนาคารบนสมาร์ทโฟน
  • Debit Cards: บัตรที่ออกโดยธนาคารที่ได้ทำการผูกไว้กับบัญชีเงินฝาก สามารถใช้กดเงินสดหรือทำธุรกรรมออนไลน์ได้ ซึ่งทุกการใช้จ่ายผ่านบัตรจะมีการหักเงินออกจากบัญชีเงินฝากโดยตรง
  • Credit Cards: บัตรสินเชื่อบุคคลธรรมดาที่สามารถนำมาใช้จ่ายออนไลน์ได้ โดยธนาคารที่ออกบัตรจะเป็นผู้กำหนดวงเงินในการใช้งาน และผู้ใช้จะต้องทำการจ่ายเงินคืนตามจำนวนที่ใช้ไปให้แก่ธนาคาร ตามระยะเวลาที่กำหนด
  • CVV: รหัส 3 ตัวบนบัตรเครดิตและเดบิต ใช้สำหรับยืนยันตัวตนของเจ้าของบัตรเมื่อเกิดการทำธุรกรรมออไลน์
  • Payment Gateway: ช่องทางการชำระเงินออนไลน์ที่ผู้ใช้สามารถชำระค่าบริการหรือใช้จ่ายได้อย่างรวดเร็ว โดยมีช่องทางให้เลือกทั้งผ่านธนาคารโดยตรงและตัวกลางชำระเงินที่ไม่ใช่ธนาคารเช่น 2C2P, PayPal, Omise เป็นต้น  

ลูกค้าใช้จ่ายด้วยระบบ e-payment/ customer pay with e-payment

ประโยชน์ของ E-Payment สำหรับร้านค้า

การใช้ระบบ E-Payment ไม่เพียงแต่เป็นทางเลือกที่สะดวกสบายสำหรับลูกค้าเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์อย่างมากสำหรับร้านค้า ดังนี้ครับ 

ทำให้ง่ายต่อการทำธุรกรรม

ระบบ E-Payment ช่วยให้ร้านค้าสามารถรับชำระเงินจากลูกค้าได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ต้องผ่านขั้นตอนที่ซับซ้อน เช่น การนับเงินสดหรือการตรวจสอบการชำระเงินด้วยเช็ค ทำให้การทำธุรกรรมเป็นไปอย่างรวดเร็ว คล่องตัว และช่วยลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากการคิดเงินหรือการทอนเงินสด

ช่วยลดค่าใช้จ่าย

การใช้ระบบ E-Payment ช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกรรม โดยไม่ได้จำกัดเพียงแค่ค่าใช้จ่ายทางตรง เช่น ค่าธนาคารและค่าบริการ แต่ยังรวมถึงค่าใช้จ่ายทางอ้อม เช่น เวลาที่ใช้ในการจัดการเงินสดและเงินทอน ระบบ E-Payment ยังช่วยลดความเสี่ยงของการสูญหายหรือการปลอมแปลงแบงค์อีกด้วย 

เพิ่มความปลอดภัยในการชำระเงิน

เนื่องจาก E-Payment นั้นทำงานบนพื้นฐานของการเข้ารหัสข้อมูลและใช้ขั้นตอนการยืนยันตัวตนที่หลากหลาย จึงช่วยให้ธุรกรรมทางการเงินมีความปลอดภัยสูง ป้องกันการขโมยข้อมูลทางการเงินของผู้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้ทั้งร้านค้าและลูกค้าสามารถมั่นใจได้ว่า การทำธุรกรรมของนั้นเป็นส่วนตัวและปลอดภัยจากการโจรกรรมข้อมูล


ทำธุรกรรมออนไลน์อย่างไรให้ปลอดภัย

เลือกใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตบนมือถือแทน Wifi 

การเชื่อมต่อ Wifi สาธารณะนั้นมีความปลอดภัยน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Wifi ที่ให้คนเข้าใช้งานได้ฟรี มีโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้ถูกมิจฉาชีพขโมยข้อมูลบนบัตรไปใช้งานได้ ทางที่ดีควรเลือกใช้อินเทอร์เน็ตที่เป็นเครือข่ายมือถือจะมีความปลอดภัยมากกว่า

ตรวจสอบอีเมลที่เรียกเก็บเงิน

แม้การเปิดดูอีเมลจะเป็นสิ่งที่หลายคนมองข้าม ทั้งนี้สำหรับการทำธุรกรรมออนไลน์และได้รับอีเมลที่เรียกเก็บเงินจากธนาคารหรือจากแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ก็ควรจะมีการตรวจสอบเพื่อความปลอดถัย ซึ่งมีข้อแนะนำดังนี้ครับ 

  • ตรวจสอบให้แน่ชัดว่าผู้ที่ส่งมาเป็นใคร ได้ทำธุรกรรมกับชื่อนี้จริงหรือไม่ 
  • อีเมลของผู้ส่งมีความน่าเชื่อถือหรือไม่
  • สามารถนำชื่ออีเมลที่ส่งเข้ามาไปค้นหาบน Google ซึ่งหากเป็นมิจฉาชีพก็มีโอกาสที่จะมีคนพูดถึงอย่างแน่นอน
  • หากไม่แน่ใจ สามารถโทรตรวจสอบกับทางธนาคารที่ส่งมาโดยตรงเพื่อความปลอดภัย

รหัสผ่านเป็นสิ่งสำคัญ

รหัสผ่านในการเข้าใช้งาน Internet Banking หรือ Mobile Banking ควรเก็บเป็นความลับ รวมถึงข้อมูลบัตรที่ใช้จ่ายต่าง ๆ ก็ไม่ส่งให้ใครหากไม่ใช่บนเว็บไซต์ทำธุรกรรม ที่สำคัญควรตั้งรหัสผ่านที่มีความซับซ้อน สามารถเดาได้ยาก 

สิ่งที่ไม่ควรนำมาใช้เป็นรหัสผ่าน

  • ข้อมูลที่ใช้ในการระบุตัวตนทั่วไป อย่างเช่น เลขบัตรประจำตัวต่าง ๆ หรือวันเดือนปีเกิด
  • ข้อมูลการติดต่อ อย่างเช่น เบอร์โทรศัพท์
  • รูปแบบตัวเลขที่เป็นที่นิยม อย่างเช่น 12345, 123321, 111111

e-payment concept on screen

การเลือกใช้ E-Payment อย่างไรให้เหมาะสมสำหรับร้านค้า

การเลือกระบบ E-Payment เป็นส่วนสำคัญในการบริหารจัดการร้านค้ายุคใหม่ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนทางการเงิน รวมถึงการลดความเสี่ยงจากการโจรกรรมข้อมูล การเลือกใช้ระบบ E-Payment ร้านค้าสามารถพิจารณาจากปัจจัยหลัก ดังนี้

พิจารณาค่าธรรมเนียมและอัตราค่าบริการ

อย่างแรกคือการพิจารณาค่าธรรมเนียมและอัตราค่าบริการที่ผู้ให้บริการระบบ E-Payment กำหนด ต้องดูและเปรียบเทียบอัตราค่าธรรมเนียมและค่าบริการที่เหมาะสมกับปริมาณการทำธุรกรรมของร้านค้า ตลอดจนเงื่อนไขพิเศษต่าง ๆ ที่อาจมีผลต่อต้นทุนในระยะยาว เช่น ค่าเบี้ยปรับหากมีการยกเลิกการทำธุรกรรม หรือค่าธรรมเนียมอื่นๆ อย่างค่าธรรมเนียมสำหรับการชำระเงินต่างประเทศ

ความสะดวกและความปลอดภัยในการใช้งาน

สิ่งที่ควรพิจารณาต่อไปคือความสะดวกในการใช้ระบบ E-Payment ควรเลือกบริการที่มีระบบที่มีความเสถียร รองรับมาตรการรักษาความปลอดภัยที่สูง นอกจากนี้ การชำระเงินผ่าน E-Payment ควรเป็นการชำระเงินที่มีความยืดหยุ่นและหลาหลาย เช่น การสนับสนุนทั้งระบบการชำระเงินด้วย QR Code และ NFC


คนไทยมั่นใจในการใช้ E-Payment มากน้อยแค่ไหน?

  1. คนไทย 78% ใช้จ่ายและชำระเงินผ่าน Mobile Banking / Internet Banking 
  2. คนไทยอายุ 21-40 ปี คือกลุ่มที่โอนและชำระเงินผ่าน Mobile Banking / Internet Banking มากที่สุด โดยเป็นกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท และใช้มากกว่า 36 ครั้ง/เดือน
  3. กลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูง มักจะใช้บริการชำระเงินผ่าน E-Payment มากกว่าการใช้เงินสด
  4. คนไทยถอนเงินสดลดลง 25% ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าการใช้ Mobile Banking / Internet Banking มีปริมาณการใช้งานเติบโตสูงถึง 30%

ข้อมูลจาก: bangkokbiznews 


ในยุคดิจิทัลที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งนี้ก็ได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค การชำระเงินด้วยเงินสดเริ่มถูกแทนที่ด้วยระบบ E-Payment ซึ่งมอบความสะดวก รวดเร็ว ง่ายดายและยังปลอดภัยในทุกขั้นตอนการทำธุรกรรม การเลือกใช้ E-Payment ในการค้าขายจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อร้านค้า ยิ่งมีตัวเลือกที่หลากหลายมากเท่าไหร่ก็ช่วยดึงดูดและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้ามากเท่านั้น 

สำหรับแบรนด์หรือธุรกิจที่ได้เพิ่มความสะดวกในการชำระเงินให้แก่ลูกค้าของคุณแล้ว ก็อย่าลืมเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกิจของคุณด้วย ไม่ว่าจะเป็นการจัดการ จัดเก็บ และส่งสินค้า ซึ่งทาง Carry Fulfillment เองก็มีบริการที่ครบวงจรที่ช่วยให้คุณสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างแม่นยำและราบรื่น สามารถศึกษาบริการของเราเพิ่มเติมได้ที่นี่เลยครับ