7 วิธีแพ็คของส่งลูกค้า แพ็คสินค้าอย่างไรให้ปลอดภัย ไร้กังวล

การแพ็คสินค้าลงในหีบห่อหรือบรรจุภัณฑ์เพื่อจัดส่งให้กับลูกค้าเป็นขั้นตอนสำคัญของการขายของ โดยเฉพาะร้านค้าออนไลน์ เพราะจะเป็นการสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าเมื่อได้รับสินค้า อีกทั้งทำให้สินค้าอยู่ในสภาพสวยงาม สมบูรณ์จนถึงมือลูกค้าอีกด้วย หากสินค้าเสียหายระหว่างการจัดส่งพ่อค้าแม่ค้าก็ต้องมีภาระงานเพิ่มขึ้นทั้งการเคลมสินค้า การติดต่อประสานงาน และยังเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย ยิ่งสินค้ามีมูลค่าสูงก็ยิ่งสร้างความกังวลให้กับพ่อค้าแม่ค้า การแพ็คสินค้าให้ปลอดภัยที่สุดจึงเป็นจุดที่คนขายของออนไลน์ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ

อุปกรณ์สำคัญในการแพ็คของหรือแพ็คสินค้า

  • บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม เช่น กล่องพัสดุ ซองเหนียว ซองกันกระแทก ฯลฯ

  • อุปกรณ์ลดแรงกระแทก เช่น กระดาษย่อย บับเบิ้ล รังผึ้ง โฟม ฯลฯ

  • กรรไกร คัตเตอร์ 

  • อุปกรณ์ปิดผนึก เช่น เทปกาว เชือก ฯลฯ

  • สัญลักษณ์สำหรับติดกล่อง เช่น ระวังแตก ห้ามโยน ฯลฯ

วิธีแพ็คของส่งลูกค้า

1. เลือกกล่องหรือบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับสินค้า

ก่อนลงมือแพ็คของต้องเลือกบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมเสียก่อน ถ้าสินค้าเป็นสินค้าที่ไม่แตกหักเสียหาย อย่างเสื้อผ้า ปลอกหมอน ก็สามารถบรรจุใส่ซองพลาสติกหรือซองเหนียวได้เลย แต่ถ้าเป็นสินค้าที่มีโอกาสแตกหักเสียหายไม่มากนัก และมีขนาดไม่ใหญ่มาก เช่น เคสโทรศัพท์ ลิปสติก พ่อค้าแม่ค้าอาจเลือกบรรจุลงในซองกันกระแทก หรือ กล่องพัสดุขนาดเล็กก็ได้ หากเป็นสินค้าที่มีโอกาสเสียหายมาก เช่น จานชามเซรามิค โคมไฟ รองเท้า ฯลฯ ควรเลือกใส่ในกล่องพัสดุที่มีขนาดพอดี ไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป เพราะหากกล่องมีขนาดเล็กเกินไปอาจเกิดการกระแทกจากภายนอกจนถึงตัวสินค้าได้ หากกล่องมีขนาดใหญ่จนเกินไป กล่องจะมีโอกาสยุบเมื่อวางทับกันระหว่างจัดส่ง หรือสินค้าเคลื่อนไปมาในกล่องจนเกิดความเสียหาย

2. ห่อสินค้าด้วยวัสดุกันกระแทก

เลือกวัสดุกันกระแทกที่เหมาะสมกับตัวสินค้า ไม่ว่าจะเป็นบับเบิ้ล โฟม กระดาษย่อย หากเป็นสินค้าที่มีโอกาสแตกหักเสียหายง่าย ควรห่อด้วยบับเบิ้ลและติดเทปกาวให้แน่นหนาทีละชิ้น การห่อบับเบิ้ลควรห่อให้หนาเท่ากัน 1-2 ชั้น หากเป็นสินค้าทรงกลมหรือโค้งมน ควรห่อด้านหัวท้ายอีกครั้ง หากเป็นสินค้าทรงเหลี่ยม ตรวจสอบมุมทุกด้านให้ดีว่าบับเบิ้ลไม่ฉีกขาด หรือห่อบับเบิ้ลเสริมบริเวณขอบหรือมุมอีกรอบก่อนแพ็คสินค้าลงกล่อง 

สำหรับสินค้าประเภทผ้าหรือกระเป๋า ควรแพ็คสินค้าในซองพลาสติกให้ดีก่อนบรรจุลงกล่องพัสดุหรือซองพลาสติก เพื่อป้องกันสินค้าเปรอะเปื้อนหรือเปียกชื้นระหว่างการจัดส่ง ถ้าสินค้าเป็นอาหารที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบควรบรรจุอาหารลงถุงพลาสติก หรือถุงสูญญากาศ จากนั้นใส่ลงกระปุกบรรจุอาหารที่มีขนาดพอดีกัน แล้วห่อด้วยบับเบิ้ลอีกรอบ ส่วนสินค้าที่มีขนาดเล็กไม่แตกหักง่ายมากนัก และต้องการความสวยงาม พ่อค้าแม่ค้าอาจใช้กระดาษย่อยวางรองด้านใน เพื่อลดแรงกระแทก และเพิ่มความสวยงามอีกด้วย

3. ลดช่องว่างในกล่องให้เหลือน้อยที่สุด

เมื่อห่อสินค้าเรียบร้อยแล้วลองบรรจุลงในกล่องพัสดุ หากเหลือที่ว่างในกล่องให้สินค้ากลิ้งไปกลิ้งมาได้อยู่ แสดงว่าสินค้ายังมีโอกาสบุบเสียหายในหว่างการจัดส่งได้ ดังนั้นการแพ็คของส่งลูกค้าจึงควรอุดช่องว่างในกล่องให้เหลือน้อยที่สุด โดยอุปกรณ์ที่ใช้ลดช่องว่างสามารถใช้ได้หลากหลาย เช่น กระดาษปรูฟ กระดาษหนังสือพิมพ์ เศษบับเบิ้ล กระดาษย่อย โฟม เศษไม้ ผักตบชวา ฯลฯ  นอกจากช่วยลดแรกกระแทกแล้ว ยังสามารถเลือกให้เหมาะสมกับสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าได้ ยกตัวเช่น หากขายสินค้าออร์แกนิคหรือสินค้าเพื่อสุขภาพ สามารถใช้เศษไม้หรือผักตบชวาแทนเพื่อให้สอดคล้องกับคอนเซปต์ของสินค้าและส่งเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์

4. ปิดผนึกกล่องให้แน่นหนา

เมื่อแพ็คของเรียบร้อยแล้วก็ปิดผนึกกล่องหรือซองให้แน่นหนาด้วยเทปกาวจนครบทุกด้าน ตรวจสอบให้ดีอย่าให้มีช่องว่างที่จะทำให้สินค้าหลุดออกมาได้ ควรเลือกใช้เทปกาวที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ติดกล่องตรงกลางแนวยาวและติดด้านข้างทั้งสองฝั่งด้วย ผู้ให้บริการขนส่งบางรายระบุให้ผู้ส่ง ผูกเชือกบนกล่องพัสดุอีกครั้งด้วย เพื่อเพิ่มความแน่นหนาอีกระดับและช่วยให้สะดวกในการหยิบจับขนย้ายกล่องพัสดุ

5. ติดป้ายเตือนหรือสัญลักษณ์บนกล่องพัสดุ

วิธีแพ็คสินค้าขั้นต่อมาคือการติดป้านเตือนเพื่อให้ขนส่งเพิ่มความระมัดวังกับสินค้าของเรา โดยสินค้าที่เสียหายง่าย ให้ติดป้าย “ห้ามโยน” หรือ “ระวังแตก” บนกล่องพัสดุในจุดที่เห็นเด่นชัด หากเป็นสินค้าที่ห้ามคว่ำหรือวางกลับด้าน เช่น ต้นไม้ ควรติดลูกศรบอกทิศทางบนกล่องด้วย และอีกข้อหนึ่งที่สำคัญสำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ อย่าลืมติดป้ายบอกผู้รับให้ “ถ่ายวิดีโอขณะเปิดกล่องพัสดุ” เพราะหากสินค้าเสียหายระหว่างการจัดส่งพ่อค้าแม่ค้าจะสามารถใช้วิดีโอนั้นเป็นหลักฐานในการเคลมค่าเสียหายจากขนส่งได้ หรือเป็นหลักฐานว่าสินค้าได้รับความเสียหายก่อนถึงมือลูกค้าจริงหรือไม่

6. จ่าหน้าพัสดุให้ชัดเจน

ขั้นตอนนี้ถือเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในการแพ็คของส่งลูกค้า ให้ตรวจสอบชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์มือถือให้ครบถ้วน พิมพ์หรือเขียนให้อ่านออกได้ง่าย ตัวหนังสือขนาดใหญ่ ชัดเจน หากเขียนหรือพิมพ์ด้วยหมึกที่ไม่กันน้ำอาจปิดทับด้วยเทปใสอีกครั้งเพื่อป้องกันการเลอะ ลบเลือนหรือฉีกขาดของใบปะหน้า 

ปัจจุบันมีเครื่องปริ้นใบจ่าหน้าพัสดุหลายรูปแบบที่ช่วยให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์สะดวกในการจ่าหน้ามากขึ้น หรือแพล็ตฟอร์มขายของออนไลน์ก็มีฟังก์ชั่นช่วยปริ้นใบจ่าหน้าที่มีขนาดเหมาะสม สวยงาม ทำให้พ่อค้าแม่ค้าไม่ต้องเสียเวลาในการพิมพ์ หรือจัดขนาด และสามารถสั่งพิมพ์ได้หลายชื่อพร้อมกัน ไม่ต้องนั่งเขียนเองป้องกันความผิดพลาด และสามารถเลือกใช้วัสดุกันน้ำได้อีกด้วย

7. แจ้งหมายเลขติดตามพัสดุให้กับลูกค้า

เมื่อส่งพัสดุให้กับผู้ให้บริการขนส่งเรียบร้อยแล้ว ร้านค้าควรจะต้องแจ้งหมายเลขพัสดุให้กับลูกค้า เพื่อใช้ติดตามสินค้าด้วย และอย่าลืมเก็บใบเสร็จค่าขนส่งสินค้าไว้จนกว่าลูกค้าจะได้รับสินค้าที่มีสภาพสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว  หากสินค้าถึงช้ากว่ากำหนด เสียหาย หรือสูญหายระหว่างขนส่ง พ่อค้าแม่ค้าจะต้องมีใบเสร็จเพื่อใช้เคลมค่าเสียหายกับบริษัทขนส่ง

ข้อควรระวังในการแพ็คสินค้า

สำหรับการแพ็คสินค้าทั่วไปที่ไม่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ 

  • เลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน

  • กล่องขนาดเหมาะสม

  • ห่อบับเบิ้ลให้แน่นหนา

  • ติดป้ายให้ชัดเจน

หากสินค้าที่ต้องการแพ็คเป็นสินค้าที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ เช่น สินค้าที่แตกหักง่าย อาหาร ของสด ก็มีข้อควรระวังที่แตกต่างกันไป ดังนี้

  1. การแพ็คสินค้าที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ เช่น น้ำปลาหวาน น้ำพริก เจลอาบน้ำ สเปรย์แอลกอฮอล์ ต้องระวังการรั่วซึมของน้ำ หรือความชื้นที่อาจเกิดจากสินค้าภายในกล่อง เมื่อแพ็คของลงกล่องพัสดุตามขั้นตอนปกติแล้วอาจห่อด้วยฟิล์มยืดอีกครั้ง เพื่อป้องกันการฉีกขาดของกล่องพัสดุ 
  2. การแพ็คของสด เช่น ผัก ผลไม้ ต้องมีการเจาะรูที่กล่องพัสดุ หรือใช้กล่องสำหรับบรรจุผลไม้โดยเฉพาะ หรือกล่องที่มีรูระบายอากาศ เพื่อช่วยให้อากาศถ่ายเท รวมถึงไม่เกิดความชื้นที่อาจทำให้ผัก ผลไม้เน่าเสียได้ หากเป็นผัก ผลไม้ที่บอบบางมาก เช่น มะม่วงสุก มะยงชิด ควรห่อบับเบิ้ลทีละลูก เพื่อไม่ให้ผลไม้ช้ำ ไม่ควรแพ็ครวมกับสินค้าชนิดอื่น และเลือกวันส่งให้ดี พยายามเลี่ยงวันเสาร์อาทิตย์หรือวันหยุดยาว
  3. สำหรับสินค้าที่แตกหักง่าย เช่น ขวดซอส จานชามเซรามิค ให้เลือกใช้กล่องพัสดุที่มีความหนา 5 มม.ขึ้นไป และระวังไม่ให้มีช่องว่างในกล่องพัสดุที่แพ็คเสร็จแล้ว นอกจากนั้นควรรองก้นกล่องด้วยโฟม หรือกระดาษลูกฟูกอีกชั้น ป้องกันไม่ให้สินค้ากระแทกกับพื้นเมื่อกล่องถูกโยนหรือวางอย่างแรง และสินค้าทุกชิ้นต้องห่อด้วยบับเบิ้ลให้มิดชิด แน่นหนา ตรวจสอบมุมและขอบของสินค้าให้เรียบร้อยอีกครั้งก่อนแพ็คลงกล่องพัสดุ
  4. ส่วนต้นไม้ก็ได้รับความนิยมซื้อขายออนไลน์กันมากขึ้น การแพ็คต้นไม้หากเป็นต้นไม้ในกระถางต้องปิดคลุมหน้าดินให้ดี ป้องกันการหกเลอะเทอะ แล้วห่อกระถางด้วยพลาสติกและบับเบิ้ล ติดเทปกาวให้แน่นหนา ส่วนใบให้ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์พรมน้ำห่อไม่ให้ใบช้ำ แล้วผูกกระถางกับลำต้นเข้ากับกล่องพัสดุด้วยเชือก ติดลูกศรบอกทิศทาง และใช้กล่องที่มีรูระบายอากาศ

อย่างไรก็ตามผู้ให้บริการขนส่งแต่ละรายอาจมีข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไป พ่อค้าแม่ค้าจึงต้องศึกษารายละเอียดให้ดี เพื่อให้เลือกใช้บริการได้อย่างถูกต้อง ยกตัวอย่างเช่น ขนส่งบางรายอาจให้บริการในวันเสาร์ อาทิตย์ ทำให้สามารถส่งของสดได้ทุกวัน หรือบางรายคิดค่าบริการเพิ่มพิเศษในบางพื้นที่ ขนส่งบางรายไม่รับส่งสินค้าที่เป็นของเหลว หรือไม่มีการรับประกันสินค้าที่แตกหักง่าย หรือขนส่งบางรายมีบริการขนส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิสำหรับของที่ต้องแช่เย็น เป็นต้น

ปัจจุบันการซื้อของออนไลน์เป็นที่นิยมมากด้วยความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง สินค้าที่ซื้อขายก็มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น รวมถึงพ่อค้าแม่ค้าต้องหาสินค้าที่แปลกใหม่เพื่อดึงดูดใจลูกค้า การหาวิธีแพ็คสินค้าให้แน่นหนาและปลอดภัยเมื่อสินค้าถึงมือลูกค้า จึงเป็นสิ่งที่พ่อค้าแม่ค้าหลายคนกังวล อย่างไรก็ตามการแพ็คสินค้าเป็นขั้นตอนที่ค่อนข้างยุ่งยาก เสียเวลา และต้องใช้ความละเอียด รอบคอบ และหากร้านค้าใดมีสินค้าหลากหลายยิ่งเพิ่มขั้นตอนในการแพ็ค รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการแพ็คสินค้าก็ต้องแตกต่างกันตามประเภทสินค้าด้วย สำหรับผู้ค้าที่ยังไม่มีความเชี่ยวชาญหรือต้องการลดภาระงานเหล่านี้สามารถใช้บริการผู้เชี่ยวชาญด้าน สต๊อก แพ็ค และจัดส่งสินค้าอย่าง Carry Fulfillment ได้เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการแพ็คสินค้ามากยิ่งขึ้น

บทความที่เกี่ยวข้อง