ในฐานะพ่อค้าแม่ค้า ไม่ว่าจะทางร้านออนไลน์หรืออฟไลน์ หรือแม้แต่ผู้ซื้อก็ดี ทุก ๆ คนเคยสงสัยไหมครับว่า สินค้าที่เราซื้อนั้นมาจากไหน มีที่มาที่ไปอย่างไร?
แน่นอนว่าสินค้าทุกตัวนั้นต่างมีต้นกำเนิดที่แตกต่างกันไป ซึ่งคำว่าที่มาที่ไปของสินค้าที่เราพูดถึงกันอยู่นี้ก็คือ Supply Chain หรือ ห่วงโซ่อุปทานนั่นเองครับ
Supply Chain เปรียบเหมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงธุรกิจของคุณเลยก็ว่าได้ครับ หากเจ้าของธุรกิจนั้นมีความเข้าใจเรื่อง Supply Chain ก็จะทำให้สามารถบริหารสินค้าและความต้องการของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงจุด
วันนี้ Carry Fulfillment จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ตั้งแต่หลักการพื้นฐานจนถึงวิธีการบริหารให้มีประสิทธิภาพ ตามไปดูกันเลยครับ

Supply Chain คืออะไร?
Supply Chain หรือห่วงโซ่อุปทาน เป็นกระบวนการที่ครอบคลุมขั้นตอนต่าง ๆ ในการจัดการการผลิตเพื่อสร้างสินค้าหรือบริการตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการ (Demand) ของลูกค้าในตลาด ห่วงโซ่อุปทานนั้นเริ่มตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ บริหารการผลิต การจัดเก็บสินค้า จนไปถึงการจัดส่งสินค้าให้ถึงมือลูกค้า ซึ่งกระบวนการที่เราพูดถึงไปนี้นั้นทำงานประสานกันจนกลายเป็นห่วงโซ่นั่นเอง
5 ผู้เกี่ยวข้องหลักใน Supply Chain
- ผู้ผลิตวัตถุดิบ (Supplier)
- ผู้ผลิต (Manufacturer)
- ผู้กระจายสินค้าหรือผู้ขายส่ง (Wholesaler)
- ผู้ขายปลีก (Retailer)
- ผู้บริโภคหรือลูกค้า (Customer)
องค์ประกอบของ Supply Chain
องค์ประกอบของ Supply Chain นั้นแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่
Upstream Supply Chain
คือ ห่วงโซ่อุปทานที่เข้าสู่กระบวนการของผู้ผลิต ประกอบด้วยกระบวนการที่เกี่ยวกับการจัดหาวัสดุหรือวัตถุดิบโดยมีซัพพลายเออร์ (Supplier) เป็นผู้เกี่ยวข้องหลัก
Internal Supply Chain
คือ ห่วงโซ่อุปทานภายในของกระบวนการผลิต ประกอบด้วยกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนวัตถุดิบให้เป็นผลิตภัณฑ์และบริการ โดยมีผู้ผลิต (Manufacturer) เป็นผู้เกี่ยวข้องหลัก
Downstream Supply Chain
คือ ห่วงโซ่อุปทานที่เข้าสู่กระบวนการที่เกี่ยวกับการขนส่ง จัดส่ง สินค้าที่ผลิตเสร็จแล้วไปสู่มือลูกค้า นั่นหมายความว่าผู้ที่เกี่ยวข้องหลักในห่วงโซ่อุปทานนี้คือนับตั้งแต่ ผู้ขายส่ง (Wholesaler) ผู้ขายปลีก (Retailer) และ ผู้บริโภคหรือลูกค้า (Customer) นั่นเอง
Supply Chain Management (SCM) คืออะไร?
Supply Chain Management หรือ SCM คือการบริหารจัดการกระบวนการทั้งหมดของห่วงโซ่อุปทาน ด้วยเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ลดค่าใช้จ่าย ลดเวลาส่งมอบ สร้างความได้เปรียบในตลาด และตอบสนองลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การไหลเวียนในระบบ Supply Chain
ในระบบของ SCM จะเกิดการไหลเวียน (Flow) ในกระบวนการของธุรกิจ ประกอบด้วย 3 ระบบหลักที่สำคัญ:
Material Flow: เป็นการไหลของวัสดุ วัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจากซัพพลายเออร์ (Supplier) ไปยังผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ผู้ค้าปลีก และไปยังลูกค้าในท้ายที่สุด ซึ่ง Material Flow นั้นครอบคลุมถึงการขนส่ง การจัดเก็บ และการจัดการสินค้าทั่วทั้งเครือข่ายห่วงโซ่อุปทาน
Information Flow: การไหลของข้อมูลหมายถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูล การสื่อสาร และการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ภายในห่วงโซ่อุปทาน โดยปกติจะกระจายอยู่ในทุก ๆ กระบวนการทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่ราบรื่นจากการได้เห็บภาพรวมของระบบทั้งหมด
Financial Flow: การไหลของเงิน เกี่ยวข้องกับการโอนเงินระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ภายในห่วงโซ่อุปทาน เช่น การชำระค่าสินค้าและบริการ การออกใบแจ้งหนี้ การจัดหาเงินทุน และการชำระเงินคืนเป็นต้น

หลักการการบริหาร Supply Chain ให้มีประสิทธิภาพ
ลดจำนวนของ Supplier
จำนวน Supplier ที่น้อยลงจะช่วยลดความซับซ้อนในการจัดการและควบคุมการผลิตสำหรับธุรกิจ นอกจากนี้ยังช่วยลดต้นทุนในการจัดหาวัตถุดิบ การผลิต และการจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้า อีกทั้งการลดจำนวน Supplier ที่ไม่จำเป็นยังช่วยเสริมความเชื่อมั่นในการสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับ Supplier ที่สำคัญ ทำให้มั่นใจได้ว่าสินค้าที่ได้จะมีคุณภาพสูงและมีการจัดส่งที่เรียบร้อยตามเวลาที่กำหนดไว้ กล่าวได้ว่าเป็นถือเป็นการเน้นสร้างคุณภาพที่และผลประโยชน์ร่วมกันในระยะยาว
Outsourcing
การใช้บริการจากบริษัทนอกระบบ (Outsourcing) ช่วยลดความซับซ้อนในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานได้อย่างดี โดยบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในด้านหนึ่ง ๆ จะได้รับหน้าที่ในการดำเนินการนั้น ๆ ทำให้บริษัทสามารถโฟกัสในกิจกรรมหลักของธุรกิจได้มากขึ้น นอกจากนี้ การใช้บริการจากบริษัทนอกระบบยังช่วยเพิ่มความเชื่อถือในกระบวนการบริหารจัดการ Supply Chain เนื่องจากบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญมักมีประสบการณ์และความรู้ที่เชี่ยวชาญในการดำเนินงานด้านนั้น ๆ
ใช้ระบบการผลิตแบบดึง (Pull System)
ในระบบ Pull System การผลิตจะเกิดขึ้นเมื่อมีความต้องการจริงจากลูกค้า ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการสร้างสินค้าเกินความต้องการของตลาด ลดการสะสมสินค้าที่ไม่จำเป็นในคลังสินค้า และเป็นการลด Lead Time นั่นหมายความว่าเป็นการช่วยลดความสูญเสียและต้นทุนในการจัดเก็บและจัดส่งสินค้าไปในตัวได้ด้วย อีกทั้งยังทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ลดจำนวนสต๊อกใน Warehouse
การลดจำนวนสต๊อกใน Warehouse หรือคลังสินค้านั้นเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาสินค้า อย่าง ค่าเช่าพื้นที่คลังสินค้า ค่าปรับปรุงและบำรุงรักษาคลังสินค้า และค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสต๊อก และในการกระบวนการทำงาน การลดจำนวนสต๊อกช่วยลดความซับซ้อนในการบริหารจัดการสต๊อก เนื่องจากมีจำนวนสินค้าที่ต้องตรวจสอบและจัดการน้อยลง ทำให้กระบวนการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ก็ยังเป็นการช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในตลาด โดยที่ไม่ต้องมีสินค้าค้างคลังเกินไปที่อาจทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
ใช้ระบบการขนส่งแบบ Cross-Docking
การขนส่งแบบ Cross-Docking เป็นกลยุทธ์ในการจัดการสต๊อกและการขนส่งที่ใช้ในการลด Lead Time และความซับซ้อนในกระบวนการขนส่งสินค้า โดยสินค้าจะถูกส่งตรงจากผู้ผลิตหรือจุดเก็บสินค้าไปยังจุดปลายทาง โดยไม่ผ่านการเก็บสินค้าในคลังสินค้าระหว่างทาง หรือมีเวลาในคลังสินค้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น กล่าวได้ว่าเป็นการใช้ Warehouse เป็นจุดกระจายสินค้าไปยังลูกค้าแต่ละราย จำนวนสินค้าที่เข้าเท่ากับจำนวนที่ออกตามความต้องการของลูกค้า ทำให้ลดค่าใช้จ่ายการจัดเก็บและส่งสินค้าให้ถึงมือลูกค้าได้เร็วขึ้น
การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย
การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหาร Supply Chain จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ลดความผันผวน และเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้าในการบริการของธุรกิจได้อย่างเต็มที่ เทคโนโลยีที่ใช้ในการบริหาร Supply Chain เช่น
- ใช้ระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) เพื่อช่วยในการบริหารจัดการข้อมูลทั้งหมดในองค์กร รวมถึงการจัดการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ในห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่การวางแผนการผลิต การจัดส่ง และการควบคุมคุณภาพสินค้า
- ใช้ระบบ WMS (Warehouse Management System) เพื่อช่วยในการจัดการคลังสินค้า ตรวจสอบสต๊อก และวิเคราะห์การเคลื่อนย้ายของสินค้าในคลัง เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ทันท่วงที
- ใช้ระบบรวมอุปกรณ์อัตโนมัติ (Automatic Identification and Data Capture) เช่น RFID (Radio Frequency Identification) หรือ Barcode เพื่อช่วยในการติดตามสินค้าและการเคลื่อนไหวของสินค้าในห่วงโซ่อุปทาน ทำให้สามารถตรวจสอบและควบคุมสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ใช้ระบบการวางแผนทรัพยากรผลิต (Manufacturing Resource Planning) เพื่อช่วยในการวางแผนการผลิต ควบคุมการใช้ทรัพยากร และการจัดส่งสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าและการส่งออก
- ใช้ระบบการวางแผนการจัดส่ง (Distribution Planning) เพื่อช่วยในการวางแผนการจัดส่งสินค้าไปยังลูกค้า ให้เป็นไปตามเวลาที่กำหนด และให้ส่งถึงมือลูกค้าได้ทันเวลา
การใช้ระบบ Postponement
Postponement คือ กระบวนการชะลอเวลา ที่เน้นการเลื่อนการปรับแต่งหรือการสร้างสินค้าเต็มรูปแบบ (Finished Goods) ไปใกล้จุดการใช้งานหรือตลาดปลายทางมากขึ้น แทนที่จะทำการปรับแต่งสินค้าให้เต็มรูปแบบในขั้นตอนแรกของกระบวนการผลิต หรือที่จุดศูนย์กลางก่อนการขนส่ง แต่ให้การปรับแต่งหรือการสร้างสินค้าให้เต็มรูปแบบเกิดขึ้นในขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการผลิต หรือใกล้จุดปลายทางที่ลูกค้า ช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับตัวต่อความต้องการของตลาดได้อย่างยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยลดความเสี่ยงในการผลิตสินค้าที่ไม่ได้มีความต้องการจริง ๆ และลดค่าใช้จ่ายในการจัดส่งสินค้าได้อีกด้วย
ประโยชน์ของ Supply Chain Management

- เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการบริการ: SCM ช่วยให้ธุรกิจสามารถจัดการกระบวนการผลิตและการให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยลดการสูญเสีย ช่วยให้เพิ่มความคล่องตัวในการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า และลดระยะเวลาในการส่งมอบสินค้าหรือบริการ
- ลดต้นทุนและเพิ่มกำไร: การจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างมีประสิทธิภาพช่วยลดต้นทุนในกระบวนการผลิต การจัดส่ง และการจัดเก็บสินค้า นอกจากนี้ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อ ลดความสูญเสียในการจัดเก็บคลังสินค้า และเพิ่มผลกำไรของธุรกิจได้
- เสถียรภาพในการจัดหาและการผลิต: SCM ช่วยให้ธุรกิจมีเสถียรภาพในการจัดหาวัสดุและวัตุดิบ และการผลิตสินค้า โดยช่วยลดความขัดแย้งระหว่างการสั่งซื้อและการผลิต ลดความผันผวนของความพร้อมในการผลิต และเพิ่มความน่าเชื่อถือของธุรกิจ
- สร้างความเชื่อมโยงกับพันธมิตรธุรกิจ: การทำงานร่วมกับพันธมิตรธุรกิจในโซ่อุปทานช่วยเสริมสร้างความเชื่อถือและความสัมพันธ์ที่ดีในอุตสาหกรรม อีกทั้งยังเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและอำนาจต่อรองในตลาดได้อีกด้วย
- การสร้างความยั่งยืนในการเติบโต: การบริหารจัดการโซ่อุปทานอย่างมีประสิทธิภาพช่วยสร้างความยั่งยืนในการเติบโตของธุรกิจ โดยช่วยลดความขัดข้องในการดำเนินการ ลดการสูญเสียทางการเงิน และช่วยให้ธุรกิจสามารถเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว
- สร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า: การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพทำให้ธุรกิจสามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด อย่างเช่นการที่สินค้ามีคุณภาพดี การจัดส่งถึงมือลูกค้าเร็ว ส่งผลให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจในท้ายที่สุด
บริหาร Supply Chain อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสร้างกำไร
เราก็ได้ทำความเข้าใจกันไปแล้วนนะครับว่า Supply Chain คืออะไรและหลักการการบริหาร Supply Chain ให้มีประสิทธิภาพนั้นสามารถทำอย่างไรได้บ้าง
และแน่นอนว่า การจัดการสินค้าในคลังนั้นก็ถือเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนการดำเนินงานที่สำคัญในการบริหาร Supply Chain เพราะหากธุรกิจสามารถจัดการคลังสินค้าได้ดี ก็ช่วยลดค่าใช้จ่าย จัดส่งสินค้าถึงมือลูกค้าของคุณได้เร็วขึ้น และสร้างผลกำไรในท้ายที่สุดสำหรับแบรนด์หรือธุรกิจที่ต้องการประหยัดทั้งแรงและเวลา ก็สามารถให้ Carry Fulfillment ช่วยคุณจัดการ จัดเก็บ และส่งสินค้าให้แบรนด์ของคุณได้ เพราะเรามีบริการครบวงจร ที่ช่วยให้คุณสามารถวางแผนธุรกิจได้อย่างแม่นยำและราบรื่นครับ