
เปิดร้านบน Shopee ว่าท้าทายแล้ว แต่รักษาระดับร้านไม่ให้โดนตัดคะแนนนั้นท้าทายยิ่งกว่า! เพราะนอกจากยอดขาย รีวิว และคะแนนการตอบแชทแล้ว ยังมีอีกหนึ่งค่าที่ Shopee ใช้ประเมินร้านค้าอยู่เงียบๆ แต่สำคัญมาก ค่านั้นคือ NFR หรือ Non-Fulfillment Rate
ถ้าคุณเป็นพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของบน Shopee หรือกำลังจะเปิดร้านในแพลตฟอร์มนี้ บอกเลยว่า ห้ามมองข้าม NFR เด็ดขาด! เพราะค่าตัวเลขเล็กๆ นี้ อาจเป็นตัวแปรที่ทำให้ร้านของคุณโดนลดระดับ หรือหนักสุดคือถูกปิดร้านแบบไม่ทันตั้งตัวได้เลยทีเดียว
วันนี้ Carry Fulfillment จะพาคุณไปรู้จักว่า NFR คืออะไร ทาง Shopee วัดยังไง คำนวณแบบไหน ส่งผลอะไรกับร้านบ้าง และที่สำคัญ พ่อค้าแม่ค้าจะลดค่า NFR ได้อย่างไรบ้าง เพื่อให้ร้านคุณปลอดภัย ขายได้ยาวๆ แบบไม่มีสะดุด ถ้าพร้อมแล้ว ตามไปดูกันเลยครับ!
NFR คืออะไร?
NFR (Non-Fulfillment Rate) คืออัตราการจัดส่งสินค้าไม่สำเร็จหลังจากมีการสั่งซื้อบน Shopee
พูดง่าย ๆ คือ เมื่อมีออเดอร์ที่ลูกค้ากดสั่งมาแล้ว แต่ร้านไม่ได้จัดส่งภายในเวลาที่กำหนด ไม่ว่าจะเกิดจากสต๊อกหมด แพ็คไม่ทัน หรือเงียบหายไปเลย Shopee จะคิด NFR เป็นเปอร์เซ็นต์ โดยดูจากจำนวนออเดอร์ที่คุณ ไม่ได้จัดส่ง เทียบกับจำนวนออเดอร์ทั้งหมดในช่วงย้อนหลัง 7 วัน

เช็กค่า NFR ของร้านได้ที่ไหน? มือใหม่บน Shopee ต้องรู้!
สำหรับร้านค้ามือใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นขายของบน Shopee แล้วได้ยินคำว่า NFR (Non Fulfillment Rate) ก็คงมีคำถามว่าแล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าร้านเรามีค่า NFR เท่าไหร่?
จริง ๆ แล้ว Shopee มีระบบที่ช่วยให้พ่อค้าแม่ค้าตรวจสอบค่าต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับคุณภาพร้านได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะเรื่อง NFR ซึ่งระบบจะคอยอัปเดตข้อมูลให้อัตโนมัติเป็นประจำทุกสัปดาห์
ถ้าคุณลงทะเบียนร้านค้า Shopee อย่างถูกต้อง และผ่านการยืนยันตัวตนเรียบร้อยแล้ว
ระบบจะเริ่มคำนวณค่า NFR ให้ทันทีเมื่อร้านคุณมีออเดอร์ครบตามเกณฑ์ขั้นต่ำที่ Shopee กำหนด
วิธีตรวจสอบค่า NFR ด้วยตัวเอง:
- เข้าสู่ระบบร้านค้าที่ Shopee Seller Centre
- ไปที่เมนู “My Performance” (หรือ “ประสิทธิภาพของร้านค้า” ในภาษาไทย)
- มองหา “อัตราการจัดส่งไม่สำเร็จ (Non Fulfillment Rate)”
- ตรวจสอบเปอร์เซ็นต์ที่แสดง พร้อมดูแนวโน้มว่าดีขึ้นหรือลดลง
Shopee จะอัปเดตข้อมูลนี้ให้ทุกวันจันทร์ ดังนั้นถ้าร้านค้าของคุณมีการพลาดจัดส่งในสัปดาห์ก่อน ก็จะเห็นผลกระทบทันทีในสัปดาห์ถัดไป
ข้อควรรู้: หากร้านของคุณยังมีจำนวนออเดอร์น้อยกว่าที่ระบบกำหนดไว้ NFR จะยังไม่ถูกคำนวณทันที อย่าเพิ่งตกใจถ้าค่าในหน้านี้ยังไม่แสดงผล เมื่อออเดอร์เริ่มมากขึ้น ระบบจะคำนวณและแสดงผลให้อัตโนมัติ
สาเหตุที่ทำให้ค่า NFR พุ่งไม่รู้ตัว พร้อมวิธีรับมือแบบมือโปร
หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมอยู่ดี ๆ ค่า NFR ของร้านถึงสูงขึ้น ทั้งที่เราก็ไม่ได้ละเลยการขาย แต่จริง ๆ แล้วอัตราการจัดส่งไม่สำเร็จหรือ NFR เกิดได้จากหลายปัจจัยที่หลายร้านอาจคาดไม่ถึง ลองมาดูกันว่าอะไรบ้างที่เป็นตัวการ และจะแก้ไขได้ยังไงเพื่อให้ร้านคุณปลอดภัยจากการโดน Shopee เตือน
1. ร้านค้าเป็นฝ่ายยกเลิกออเดอร์เอง
สาเหตุหลักอันดับต้น ๆ ที่ทำให้ NFR ขึ้นเลยก็คือ “ยกเลิกคำสั่งซื้อเพราะจัดส่งไม่ได้” ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดจากของหมด แต่ลืมอัปเดตในระบบ ลูกค้ากดสั่งเข้ามาแล้วเราไม่มีของส่ง ก็ต้องกดยกเลิกไป
วิธีป้องกันง่าย ๆ คือต้องมีระบบที่ช่วยซิงค์สต๊อกแบบเรียลไทม์ เช่นระบบ OMS (Order Management System) ที่จะช่วยอัปเดตสต๊อกให้ตรงกันในทุกช่องทาง ไม่ว่าจะขายใน Shopee, หรือแพลตฟอร์มอื่น ๆ บางระบบยังมีฟีเจอร์แจ้งเตือนเมื่อของใกล้หมด ช่วยให้คุณเติมสินค้าได้ทันก่อนจะต้องยกเลิกออเดอร์ลูกค้าอีกด้วย
2. ระบบยกเลิกออเดอร์ให้อัตโนมัติ
อีกหนึ่งกรณีที่เจอบ่อย คือร้านค้ายังไม่ตอบรับคำสั่งซื้อ หรือไม่จัดส่งในเวลาที่ Shopee กำหนดไว้ ระบบก็จะตัดสินใจยกเลิกให้เอง โดยอัตโนมัติ ซึ่งส่งผลให้ NFR พุ่งขึ้นทันทีโดยที่คุณอาจไม่รู้ตัว
สาเหตุหลักมักเกิดจากการไม่ได้เข้าเช็กคำสั่งซื้อ หรือไม่ได้ดำเนินการใด ๆ กับออเดอร์ที่เข้ามาภายใน 1-2 วัน ใครที่ขายของบน Shopee แล้วไม่ค่อยเข้าแอปบ่อย ต้องระวังข้อนี้เป็นพิเศษ!
ทางออกที่ช่วยได้ คือเปิดแจ้งเตือน Shopee ให้เด้งทันทีที่มีออเดอร์ หรือเชื่อมต่อระบบ Fulfillment ที่มีทีมช่วยจัดการออเดอร์อัตโนมัติ ลดความเสี่ยงที่ระบบจะยกเลิกให้เองแบบไม่ตั้งใจ
3. ลูกค้าขอคืนเงินหรือคืนสินค้า
แม้ว่าจะไม่ใช่ความผิดจากร้านค้าเสมอไป แต่ถ้าลูกค้าไม่ได้รับของ หรือได้รับของผิด สินค้าเสียหาย หรือไม่ตรงปก ก็มักจะจบลงที่การขอคืนเงิน ซึ่ง Shopee จะนับเป็นออเดอร์ที่จัดส่งไม่สำเร็จ และส่งผลต่อ NFR เช่นกัน
ทางแก้คือ ต้องเพิ่มความแม่นยำในการจัดส่งให้มากที่สุด เช่น ใช้ระบบสแกนบาร์โค้ดทุกออเดอร์ก่อนแพ็ค ตรวจสอบความถูกต้องก่อนปิดกล่อง หรือใช้บริการคลังสินค้าที่มีกล้อง CCTV ช่วยบันทึกการแพ็คทุกขั้นตอนไว้ให้ตรวจสอบได้ภายหลัง เมื่อลดข้อผิดพลาดในขั้นตอนการจัดส่งได้ ความเสี่ยงเรื่องการขอคืนสินค้าก็จะลดลงไปด้วย

NFR สูงเกินไป จะส่งผลกับร้านค้ายังไงบ้าง? บทลงโทษที่คนขายของบน Shopee ต้องรู้
หลายคนอาจมองว่าแค่จัดส่งไม่ทันบ้าง ยกเลิกออเดอร์บ้าง คงไม่เป็นไร แต่รู้ไหมว่า ถ้าค่า Non Fulfillment Rate (NFR) ของร้านคุณสูงเกินไป Shopee จะเริ่มจับตามอง และอาจเริ่มลงโทษร้านแบบจริงจัง ทั้งการจำกัดสิทธิ์ การลดการมองเห็น ไปจนถึงเสี่ยงโดนระงับบัญชีถาวรเลยทีเดียว!
ถ้าไม่อยากให้ร้านต้องเสียโอกาสไปแบบไม่รู้ตัว ลองมาดูให้ชัด ๆ กันเลยว่า NFR สูงแล้วส่งผลเสียยังไงบ้าง
1. เสียความน่าเชื่อถือทั้งจากลูกค้าและแพลตฟอร์ม
ร้านที่ยกเลิกคำสั่งซื้อบ่อย หรือจัดส่งช้า จนลูกค้ารู้สึกว่าสั่งแล้วไม่มั่นใจว่าจะได้ของ จะทำให้คนเริ่มหลีกเลี่ยง และเลือกไปร้านที่ดูจัดส่งไวกว่าแทน แถม Shopee ยังมองว่าร้านของคุณดูแลออเดอร์ไม่ดีพอด้วย
2. Shopee ลดสิทธิประโยชน์ทีละขั้น
Shopee มีระบบ “คะแนนความประพฤติ” สำหรับร้านค้า ยิ่ง NFR สูง ก็ยิ่งเสี่ยงสะสมคะแนนมากขึ้น ซึ่งคะแนนนี้จะถูกนำไปใช้ในการพิจารณาลงโทษ ร้านค้าแบบเป็นขั้น ๆ เลย ก่อนอื่น มาดูกันว่าเกณฑ์การวัดค่าและการหักคะแนน NFR ของ Shopee วัดยังไง
เกณฑ์การวัดค่า NFR | คะแนนที่ได้รับ |
≥ 10% | 1 คะแนน |
≥ 10% และ ≥ 30 ออเดอร์ | 2 คะแนน |
≥ 60% | 3 คะแนน |
≥ 60% และ ≥ 30 ออเดอร์ | 4 คะแนน |
บทลงโทษของ Shopee ตามนโยบายคะแนนความประพฤติ
ระดับคะแนนความประพฤติ | ผลกระทบต่อร้านค้า |
ระดับ 1 (3–5 คะแนน) | ถูกตัดสิทธิ์เข้าร่วมแคมเปญต่าง ๆ บน Shopee |
ระดับ 2 (6–8 คะแนน) | ตัดสิทธิ์แคมเปญ + ไม่ได้เงินสนับสนุนค่าจัดส่ง + สินค้าถูกลดการมองเห็น |
ระดับ 3 (9–11 คะแนน) | เหมือนระดับ 2 แต่เพิ่มการถูกตัดสิทธิ์เข้าถึงรายการสินค้า |
ระดับ 4 (12–14 คะแนน) | ถูกจำกัดการเข้าถึงรายการสินค้า + แก้ไข/เพิ่มสินค้าไม่ได้ |
ระดับ 5 (15 คะแนนขึ้นไป) | ถูกตัดสิทธิ์ทุกอย่าง + เสี่ยง “ระงับบัญชีถาวร” ทันที! |
ตัวอย่างการคำนวณค่า NFR
สมมติว่าในช่วงเวลา 7 วันที่ผ่านมา
- ร้านคุณมีออเดอร์รวมทั้งหมด 50 ออเดอร์
- แต่มี 6 ออเดอร์ที่คุณยกเลิกไปเอง เนื่องจากของหมดหรือส่งไม่ทัน
วิธีคิด NFR คือ:
NFR = (6/50) x 100 = 12%
ในกรณีนี้ Shopee จะถือว่า:
- ค่า NFR เกิน 10%
- จำนวนออเดอร์เกิน 30 รายการ
คุณจะได้รับ 2 คะแนน ตามตารางบทลงโทษทันที
ยิ่งคะแนนสูง ยิ่งขายยาก
ร้านที่โดนตัดสิทธิ์จากแคมเปญ หรือถูกลดการมองเห็นสินค้า ยอดขายก็จะค่อย ๆ ลดลงอย่างเห็นได้ชัด บางร้านอาจถึงขั้นมองไม่เห็นสินค้าในหน้าแรกเลย แม้ว่าจะมีราคาถูกหรือโปรดีแค่ไหนก็ตาม
และถ้าแต้มพุ่งไปถึงระดับ 5 เมื่อไหร่ บัญชีร้านค้าของคุณมีโอกาสถูกปิดแบบถาวร ซึ่งหมายถึงต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด นั่นหมายความว่าคุณจะเสียทั้งชื่อเสียง ลูกค้า และยอดขายที่สะสมมา

5 เทคนิคแก้ปัญหาอัตราจัดส่งไม่สำเร็จ (NFR) ให้อยู่หมัด!
1. บริหารสต๊อกให้พร้อมเสมอ
เพราะการที่ของหมดโดยไม่รู้ตัว คือสาเหตุอันดับหนึ่งของการยกเลิกออเดอร์ และเพื่อป้องกันปัญหานี้ คุณควรใช้ระบบเช็กสต๊อกแบบเรียลไทม์ที่อัปเดตตลอดทุกช่องทาง เช่น การตั้งจุดเตือน Reorder Point ไว้ หรือมี Safety Stock สำหรับสินค้าขายดี เพื่อรองรับยอดที่พุ่งขึ้นช่วงโปร อย่าลืมตรวจนับสินค้าจริงเป็นประจำ เพื่อให้ข้อมูลในระบบตรงกับของในคลัง ยิ่งแม่นยำเท่าไหร่ ยิ่งลดโอกาสยกเลิกออเดอร์ได้มากเท่านั้น
อ่านเพิ่มเติม: วิธีจัดการสต๊อกสินค้าออนไลน์ ให้ยอดขายพุ่ง ขายได้ ไม่มีสะดุด
2. จัดส่งให้ตรงเวลา ไม่มีหลุด
ออเดอร์เข้าแล้ว แต่ส่งช้า หรือไม่ได้ส่งตามกำหนดเวลา จะก่อให้เกิดปัญหา NFR แน่นอน วิธีจัดการคือวางแผนจัดส่งให้ดีล่วงหน้า ทั้งเรื่องแพ็คของและเลือกขนส่งที่เชื่อถือได้ ควรมีทีมที่พร้อมลุยช่วงยอดพุ่ง เช่น Flash Sale หรือวันโปรใหญ่ สำหรับร้านที่ยังไม่มีทีมจัดส่งเอง อาจใช้บริการคลัง Fulfillment ที่มีทีมพร้อมแพ็ค-ส่งให้ จะช่วยให้ไม่พลาดออเดอร์แม้จะยุ่งแค่ไหนก็ตาม
อ่านเพิ่มเติม: 12 สัญญาณที่ร้านค้าออนไลน์ควรใช้ Fulfillment Service เพื่อเพิ่มยอดขาย
3. เปิด Vacation Mode ถ้าไม่พร้อมรับออเดอร์
หากรู้ล่วงหน้าว่าจะหยุดร้าน เช่น เดินทางไปต่างจังหวัด ปรับปรุงคลัง หรือหยุดช่วงเทศกาล การเปิด Vacation Mode หรือโหมดพักร้อน Shopee ช่วยให้ลูกค้าไม่สามารถสั่งของในช่วงเวลานั้นได้ ซึ่งดีกว่าการปล่อยให้ลูกค้าสั่งมาแล้วคุณไม่มีของส่ง
แต่ถ้าไม่อยากปิดร้าน ก็สามารถใช้ Fulfillment ที่ทำงาน 24/7 แทนคุณได้เช่นกัน ช่วยให้ร้านยังเปิดขายได้แม้คุณจะไม่อยู่หน้าจอก็ตาม
4. แพ็คสินค้าให้ถูกต้องตามออเดอร์
การส่งของผิด หรือส่งไม่ครบ อาจนำไปสู่การขอคืนเงิน-คืนของ ซึ่งนับเป็นออเดอร์ไม่สำเร็จทันที วิธีป้องกันคือเพิ่มความแม่นยำในขั้นตอนแพ็ค เช่น
- ใช้บาร์โค้ดสแกนสินค้า
- เช็กของก่อนปิดกล่องทุกครั้ง
- มีระบบ double-check หรือ checklist
หากใช้คลังที่มีการบันทึกภาพแพ็คของแบบ CCTV หรือรายงานออเดอร์ย้อนหลังได้ ก็จะยิ่งเพิ่มความมั่นใจให้ลูกค้าและร้านไปพร้อมกัน
5. ตรวจเช็กคุณภาพสินค้าก่อนจัดส่ง
สินค้าเสียหาย รอยตำหนิ หรือกล่องยุบ ต่างก็เป็นเหตุผลยอดฮิตที่ทำให้ลูกค้าขอคืนของ ดังนั้นก่อนแพ็ค ควร QC สินค้าทุกชิ้นให้ดี โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่มีความเปราะบาง หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า
ถ้าอยากสบายใจ ไม่ต้องคอยกังวลจุดนี้ บางคลัง Fulfillment มีบริการ QC 100% พร้อมเปลี่ยนแพ็คเกจ ติดฉลาก และปรับแต่งสินค้าให้ตรงมาตรฐาน ช่วยให้ของที่ถึงมือลูกค้าอยู่ในสภาพดีที่สุด ลดโอกาสร้องเรียนและการคืนของลงได้เยอะเลย
เช็กลิสต์: ใครควรเริ่มสนใจ NFR ตั้งแต่วันนี้?
- ร้านที่ ขายหลายช่องทาง แล้วเริ่มจัดการออเดอร์ไม่ทัน
- ร้านที่ใช้ Excel หรือจดมือ ยังไม่มีระบบหลังบ้าน
- ร้านที่ขายของบน Shopee และอยากได้ ตราร้านค้าแนะนำ (Preferred Seller)
- ร้านที่เคยถูก Shopee เตือนเรื่องจัดส่ง
- ร้านที่อยากขยายทีม แต่ยังไม่อยากจ้างเพิ่ม
อย่าปล่อยให้ค่า NFR มาทำร้ายคะแนนร้านของคุณ! เพราะแค่คุณมีระบบจัดการสต๊อกและออเดอร์ที่แม่นยำ แพ็คของถูกต้อง และส่งของไว ก็ช่วยลดอัตราจัดส่งไม่สำเร็จไปได้มากแล้ว
ถ้าไม่อยากให้ปัญหาเล็ก ๆ กลายเป็นเหตุให้ร้านโดน Shopee ลดระดับ หรือปิดบัญชี เริ่มจัดระบบหลังบ้านให้ดีตั้งแต่วันนี้ จะได้ขายดีแบบไม่มีสะดุด!

สำหรับร้านค้าออนไลน์ที่ออเดอร์ทะลัก จัดการไม่ทัน… Carry Fulfillment ช่วยคุณได้!
หากคุณเป็นร้านค้าออนไลน์ที่มีออเดอร์เข้ามาจากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น Shopee, Lazada, TikTok Shop หรือเว็บไซต์ของคุณเอง จนเริ่มรู้สึกว่าจัดการไม่ทัน ไม่ต้องกังวลครับ! Carry Fulfillment พร้อมช่วยดูแลธุรกิจของคุณตั้งแต่ต้นจนจบ ทั้งจัดเก็บ แพ็ค และส่งสินค้าให้คุณอย่างมีประสิทธิภาพ เรามีระบบหลังบ้านที่สามารถเชื่อมต่อ API เข้ากับแพลตฟอร์มต่าง ๆ ทําให้ร้านค้า ประหยัดเวลาในการจัดการออเดอร์ได้เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นหลักพันหรือหมื่นออเดอร์ เราพร้อมให้บริการที่ครบวงจร ช่วยให้ธุรกิจของคุณดำเนินไปอย่างราบรื่น ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริการของเราได้ที่นี่เลยครับ!