
Marketplace คืออะไร ทำความเข้าใจหน้าร้านขายของในยุคออนไลน์
ในยุคที่อินเตอร์เน็ตเข้าถึงคนจำนวนมากได้อย่างครอบคลุม ทำให้การค้าขายที่เคยมีหน้าร้านตามสถานที่ต่าง ๆ อย่างตลาดหรือห้างสรรพสินค้า ต่างก็ผันตัวมาอยู่ในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะในรูปแบบของสื่อโซเชียลมีเดียของร้าน หรือตลาดออนไลน์อย่าง Marketplace ในบทความนี้เราจะไปดูกันว่า Marketplace คืออะไร มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร และ Marketplace ในไทยมีอะไรบ้าง
Marketplace คืออะไร
Marketplace หรือมาร์เก็ตเพลส คือ แพลตฟอร์มออนไลน์ที่เป็นตัวกลางในการนำผู้ซื้อและผู้ขายมาเจอกัน โดยผู้ขายจะเข้ามาขายสินค้าที่ตนเองมีบนช่องทาง Marketplace นั้น ๆ โดยสามารถสร้างเป็นร้านค้าออนไลน์ได้ภายในแพลต ทั้งนี้ยังสามารถอัปเดตข้อมูลสินค้า สต๊อกสินค้า จัดการราคา ทำโปรโมชัน และการจัดการเรื่องการส่งสินค้าได้ ส่วนฝั่งผู้ซื้อก็จะเลือกใช้บริการแพลตฟอร์ม Marketplace ที่ตนเองสนใจหรือมีร้านค้าและสินค้าที่ต้องการอยู่ สามารถเลือกได้จากหลากหลายร้านค้า และเลือกชำระเงินได้หลากหลายวิธี
จะเห็นได้ว่าหน้าที่หลักของ Marketplace คือการนำผู้ซื้อและผู้ขายที่มีความต้องการตรงกันมาเจอกันเพื่อให้เกิดยอดขาย สิ่งที่ Marketplace จะได้คือค่าคอมมิชชันจากแต่ละออเดอร์ที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มนั่นเอง
Marketplace กับ e-Commerce ต่างกันอย่างไร
หลายคนอาจจะยังเข้าใจสับสนระหว่าง Marketplace และ e-Commerce ซึ่ง Marketplace เป็นแพลตฟอร์มที่รวมร้านค้าหลากหลายร้านเข้าไว้ด้วยกัน เช่น Shopee, Lazada, Amazon, eBay ฯลฯ แต่ e-Commerce เป็นเพียงการขายของออนไลน์ของแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งเท่านั้น ซึ่งการค้า การตลาด และการจัดการทั้งหมดจะเป็นหน้าที่ของแบรนด์ดังกล่าวเพียงแบรนด์เดียว อาจอยู่ในรูปแบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันก็ได้ เช่น Nike, Zara, Apple ฯลฯ

3 ปัจจัยหลักของการเป็น Marketplace
Marketplace กับ e-Commerce ต่างกันอย่างไร
Marketplace เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีการรวบรวมร้านค้าไว้เป็นจำนวนมาก รวมถึงจำนวนสต๊อกสินค้าที่หลากหลายประเภทและหลากหลายชิ้น แต่ถึงแม้ว่าสต๊อกเหล่านี้จะมีจำนวนมหาศาลแต่เป็นการจัดการโดยผู้ขายเองเป็นหลัก ดังนั้น Marketplace จึงไม่มีการสต๊อกสินค้าเป็นของตนเอง
Marketplace สร้างความประทับใจให้ลูกค้าได้มากกว่า
ข้อดีอย่างหนึ่งของการเป็น Marketplace คือ ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาในการผลิตสินค้า หรือทำการตลาดสินค้าชิ้นนั้น ๆ จึงทำให้สามารถทุ่มกำลังไปที่การบริการลูกค้าเป็นหลักได้ โดยเน้นที่การสร้างประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานแพลตฟอร์ม Marketplace ให้กับผู้ซื้อและผู้ขาย นอกจากนี้การที่มีผู้ขายหลาย ๆ เจ้าขายสินค้าในแพลตฟอร์มเดียวกัน ทำให้ผู้ซื้อมีตัวเลือกเยอะขึ้น ช่วยในการเปรียบเทียบราคาของสินค้า และซื้อสินค้าหลาย ๆ ชิ้นได้ภายในแพลตฟอร์มเดียว จึงสามารถสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าหรือผู้ซื้อได้มากกว่า
Marketplace เป็นโมเดลธุรกิจที่เติบโตได้
เนื่องจาก Marketplace เป็นธุรกิจที่ไม่จำเป็นต้องมีสินค้าเป็นของตัวเอง เช่น Airbnb ไม่ต้องมีโรงแรม NocNoc ไม่ต้องมีเฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ ก็สามารถดำเนินธุรกิจได้ ทำให้ Marketplace ถือเป็นอีกหนึ่งรูปบบธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตได้เป็นอย่างดี แตกต่างจากการที่แบรนด์สินค้าที่หันมาทำร้านค้าออนไลน์ของตัวเอง ต้องใช้ทุนเป็นจำนวนมากในการลงทุน และมีขีดจำกัดการขายแค่สินค้าของแบรนด์ตัวเองเท่านั้น

Marketplace ในไทยมีอะไรบ้าง
ในไทยมี Marketplace หลายเจ้าด้วยกัน ทั้งแบบที่มีสินค้าหลากหลาย และแบบที่มีสินค้าเฉพาะกลุ่ม โดยแบบที่มีสินค้าทั่วไป เช่น Shopee, Lazada, Facebook, JD Central, Tiktok shop ฯลฯ แบบสินค้าเฉพาะกลุ่ม เช่น NocNoc, Airbnb ฯลฯ
Marketplace มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร
แม้ว่าการค้าขายในช่องทาง Marketplace จะดูไม่ยุ่งยากและเป็นโอกาสทางการค้าที่ดีให้กับแบรนด์สินค้าทุกขนาด ทั้งไซซ์เล็กไปจนถึงแบรนด์ใหญ่ระดับโลกก็ตาม แต่ Marketplace เองก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียด้วยเช่นกัน
ข้อดีของ Marketplace
-
เป็นช่องทางเพิ่มยอดขาย: ร้านค้าหรือแบรนด์มากมายที่ต้องการเพิ่มยอดขายในโลกออนไลน์ต่างเลือกที่จะใช้งาน Marketplace ที่ได้รับความนิยมจากผู้ซื้อ เช่นเดียวกับธุรกิจออฟไลน์แต่เดิม ที่ร้านค้าบางร้านยอมลงทุนที่จะเปิดหน้าร้านขนาดเล็กในห้างสรรพสินค้า เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น และทำยอดขายได้มากขึ้น Marketplace จึงทำหน้าที่เหมือนห้างฯ นั่นเอง
-
ช่วยลดค่าใช้จ่าย: ในการขายสินค้านอกจากเรื่องของต้นทุนการผลิตแล้ว ต้นทุนทางการตลาดก็มากเช่นกัน โดยเฉพาะการตลาดออนไลน์ในปัจจุบัน ดังนี้นแพลตฟอร์ม Marketplace จึงมีหน้าที่ในการช่วยร้านค้าจัดการสิ่งเหล่านี้ เป็นอีกทางในการลดต้นทุน แลกกับการจ่ายค่าธรรมเนียมในแต่ละออเดอร์ที่เกิดขึ้น
-
จัดการภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้: เนื่องจากใน Marketplace สามารถสร้างร้านค้าแยกออกไปตามแบรนด์ได้ รวมถึงสามารถจัดการหน้าร้าน ภาพโลโก้ ราคา และองค์ประกอบอื่น ๆ ที่เป็นภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้ด้วยตัวเอง จึงเป็นอีกหนึ่งข้อดีสำหรับผู้ขาย
-
มีความน่าเชื่อถือ: ในการขายของออนไลน์ เรื่องของการโอนเงินจ่ายเงิน เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องอาศัยความเชื่อใจระหว่างลูกค้าและผู้ขาย แต่หากใช้งาน Marketplace ซึ่งมีระบบการจัดการการจ่ายเงินรองรับ ทำให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายมั่นใจว่าจะได้สินค้าและได้รับเงินอย่างแน่นอน
-
เพิ่งช่องทางในการขายสินค้าไปต่างประเทศ: จุดเด่นอีกอย่างของแพลตฟอร์ม Marketplace คือ การเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้ โดยไม่ต้องลงทุนศึกษาตลาดหรือทำการตลาด รวมถึงมีการซัพพอร์ตด้านภาษาเพื่อใช้ในการขาย ทั้งนี้ในหลาย ๆ แพลตฟอร์มก็มีค่าจัดส่งพิเศษให้กับผู้ขายอีกด้วย

ข้อเสียของ Marketplace
- ไม่ได้เป็นเจ้าของข้อมูลลูกค้า: ในมุมที่ผู้ขายต้องการออกมาสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ของตัวเอง และต้องการใช้ข้อมูลลูกค้าจากแพลตฟอร์ม Marketplace จะไม่สามารถทำได้ เนื่องจากหลาย ๆ แพลตฟอร์ม Marketplace จะมีเพียงข้อมูลทั่วไปให้กับผู้ขายเท่านั้น
- ร้านค้าไม่ใช่ของตัวเอง: ในกรณีที่ต้องการย้ายแพลตฟอร์ม ผู้ขายไม่สามารถดาวน์โหลดไฟล์รูปภาพ ราคา รายละเอียดสินค้าของตัวเองออกมาได้ ทำให้ต้องไปสร้างใหม่นั่นเอง
- ข้อมูลการค้าเป็นของ Marketplace: อาจเป็นข้อเสียเปรียบอีกอย่างหนึ่งของแบรนด์หรือร้านค้า เนื่องจากไม่สามารถเป็นเจ้าของข้อมูลลูกค้าและการซื้อขายทั้งหมด ทำให้ Marketplace ที่มีข้อมูลรอบด้านของธุรกิจ สามารถใช้ข้อมูลที่มีเพื่อสร้างธุรกิจแข่งกับเราได้
- มีคู่แข่งมากมายในที่เดียวกัน: อาจเป็นข้อดีของผู้ซื้อ แต่เป็นข้อเสียเปรียบของผู้ขาย เมื่อมีผู้ขายมากมาย ที่ขายสินค้าใกล้เคียงกัน ผู้ซื้อจึงมีโอกาสเลือกมากกว่า
- มีเงื่อนไขมากมาย: เนื่องจากทาง Marketplace เองก็ต้องการรักษาภาพลักษณ์และประสบการณ์การใช้งานของลูกค้า ทำให้แบรนด์ที่เปิดร้านใน Marketplace ต้องจัดการเรื่องสต๊อกสินค้าและการจัดส่งตามวันเวลาที่กำหนดตามมาตรฐาน
Marketplace ถือเป็นอีกช่องทางในการทำเงินให้กับผู้ขายในยุคปัจจุบัน และมีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป แต่หากร้านค้าหรือแบรนด์ไหนที่ไม่ต้องการบริหารจัดการเรื่องการสต๊อกสินค้า การแพ็คของ หรือการส่งของให้ลูกค้า สามารถใช้บริการ Carry Fulfillment ที่มีให้ครบทุกบริการแบบมืออาชีพ